ธนาคารอาคารสงเคราะห์ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยธนาคารยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติงานอย่างมีจรรยาบรรณของพนักงาน ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางในการบริหารองค์กรและแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งที่มีผลกระทบและได้รับผลกระทบจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์หรือ บริการ และการดำเนินงานของธนาคารเพื่อให้การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร มีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจน ครบถ้วน เหมาะสมและเป็นธรรม ธนาคารจึงกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เพื่อให้ธนาคารมีกระบวนการในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารที่มีการคำนึงถึงประเด็นที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น มีการตรวจสอบและประเมินผลของการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และมีการบูรณาการกับระบบการกำกับดูแลขององค์กร การกำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจ และการบริหารจัดการในทุกระดับของธนาคาร

นโยบายด้านการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ธนาคารยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ถือมั่นในความรับผิดชอบในทุกการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยความเคารพสิทธิและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรรมรับฟังความคิดเห็น หรือความกังวล รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสนใจ รวมถึงร่วมพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

แนวปฏิบัติของธนาคารอาคารสงเคราะห์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ธนาคารกำหนดแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ สร้างคุณค่าเพิ่มแก่ธนาคารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

แนวปฏิบัติต่อเจ้าของ
ธนาคารมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้มีผลการดำเนินงานที่ดี มีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มีความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงสภาวะความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ปกป้องทรัพย์สิน และมุ่งมั่นพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เจ้าของในระยะยาว

แนวปฏิบัติต่อหน่วยงานกำกับดูแล
ธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีการตัดสินใจทางธุรกิจและดำเนินกิจการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง มีการปฏิบัติตามมาตรฐานจรรยาบรรณที่ดีของธนาคาร เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงและเจริญเติบโตให้กับประเทศชาติ

แนวปฏิบัติต่อคณะกรรมการธนาคาร
คณะกรรมการธนาคารได้รับทราบและดำเนินการเป็นไปตามอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมทั้งรับรู้ถึงสิทธิและดูแลสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มของธนาคารอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

แนวปฏิบัติต่อพนักงาน
ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารและพัฒนาพนักงาน จัดให้มีระบบการบริหารงานบุคคลที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับเติบโตในสายอาชีพอย่างเท่าเทียมกัน มีการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการดูแลผลประโยชน์ที่เหมาะสม ตามหน้าที่ความรับผิดชอบ และที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของธนาคารทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ธนาคารมีนโยบายส่งเสริมให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยการจัดสวัสดิการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของพนักงานได้อย่างเหมาะสม

แนวปฏิบัติต่อผู้มีรายได้น้อยกลุ่มเป้าหมาย
ธนาคารมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้ความรู้ทางการเงิน การสร้างวินัยการออมเพื่อสะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบ้าน รวมถึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย สะดวก และต้นทุนต่ำ

แนวปฏิบัติต่อลูกค้า
ธนาคารมุ่งมั่นสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย ครบถ้วน มีคุณภาพ และพร้อมให้การตอบสนองที่ตรงความต้องการของลูกค้านำเทคโนโลยีมาพัฒนาช่องทางการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเข้าถึงบริการของลูกค้ามีการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ให้ความสำคัญในการรักษาความลับของลูกค้า รวมทั้งการอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการทางการเงินของธนาคาร

แนวปฏิบัติต่อพันธมิตรทางธุรกิจ
ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญในความร่วมมือ และข้อพึงปฏิบัติต่อพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร (Strategic Partner) ในการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างโปร่งใส ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือในกิจกรรม หรือมาตรการสำคัญต่างๆ อันยังประโยชน์สูงสุดแก่ ธนาคาร ลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ จัดให้มีคณะกรรมการในการประเมินผลงานประจำปีของพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อยกระดับศักยภาพการให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งในด้านคุณภาพ ราคาและปริมาณ รวมถึงมีการรักษาความลับและข้อมูลส่วนบุคคลของพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเคร่งครัด

แนวปฏิบัติต่อผู้ให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ/ผู้ให้บริการภายนอก/ผู้ส่งมอบ
ธนาคารมีการปฏิบัติต่อผู้ให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ/ผู้ให้บริการภายนอก/ผู้ส่งมอบ ตามเงื่อนไขทางการค้าและสัญญาที่กำหนดไว้ มีการประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดีและไม่ใช้วิธีการไม่สุจริตในการคัดเลือกผู้ให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ/ผู้ให้บริการภายนอก/ผู้ส่งมอบ ธนาคารไม่ทำธุรกิจกับผู้ให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ/ผู้ให้บริการภายนอก/ผู้ส่งมอบที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย และผู้ให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจ/ผู้ให้บริการภายนอก/ผู้ส่งมอบ ต้องมีการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่เป็นองค์กรที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

แนวปฏิบัติต่อสังคมและชุมชน
ธนาคารดำเนินงาน โดยคำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงมีต่อประเทศชาติทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งหวังให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมการดำเนินงานเพื่อสังคมของธนาคาร รวมถึงมีการร่วมมือกับผู้แทนชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในการร่วมกันดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และก่อเกิดประโยชน์ที่สังคมและชุมชนพึงจะได้รับอย่างยั่งยืน

แนวปฏิบัติต่อสื่อมวลชน
ธนาคารตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการกำหนดข่าวสารเพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้แก่ประชาชนได้รับรู้โดยปราศจากอคติ และเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม รวมทั้งธนาคารมีช่องทางให้สื่อมวลชนสามารถติดต่อสอบถาม หรือรับทราบข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของธนาคาร เพื่อนำไปเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้โดยปราศจากการแทรกแซง บนพื้นฐานของความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส เป็นกลาง และไม่ละเมิดต่อกฎหมาย กฎระเบียบ หรือสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

ขั้นตอนและวิธีการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
      1.การระบุวัตถุประสงค์ ขอบเขตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การกำหนดวัตถุประสงค์การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสนับสนุนดำเนินงานของธนาคารและการกำหนดขอบเขตกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากนั้นจะมีการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งสามารถระบุได้ทั้งบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กร โดยพิจารณาจากผลกระทบที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจได้รับหรืออิทธิพลของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของธนาคาร โดยการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะดำเนินการโดยฝ่ายงานที่รับผิดชอบกระบวนการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์และขอบเขตที่กำหนดไว้ การจัดลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นขั้นตอนในการวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ธนาคารต้องสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบมาตรการที่เหมาะสม

 2.การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกธนาคาร เพื่อให้ทราบผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 3.การกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ
การกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการกำหนดโครงการ ตัวชี้วัด และเป้าหมาย รวมทั้งมีการประเมินความเสี่ยงและจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 4.การสื่อสารและดำเนินการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ธนาคารมีการถ่ายทอดแผนการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลงไปในแต่ละระดับ โดยในการดำเนินงานจะมีการติดตามและประเมินผลดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และมีการรายงานผลการดำเนินงานผ่านช่องทางต่างๆ เช่น รายงานประจำปี เว็บไซต์ เป็นต้น