ธนาคารฯ ได้สร้างสำนักงานใหญ่อาคารที่ ๒ สูง ๒๑ ชั้น เชื่อมต่อกับกับอาคารแรกและทำพิธีเปิดทำการเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ สมัยคณะรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยอาคารหลังใหม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของธนาคารฯ ให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
ปี ๒๕๓๙ ธนาคารฯ ได้ริเริ่มจัดทำ Web Site ของธนาคารฯ ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตชื่อ www.ghb.co.th เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการให้บริการเงินกู้และเงินฝากและข่าวสารอื่น ๆ แก่สาธารณชน ซึ่งนับว่าเป็น Web รุ่นแรกของประเทศไทยที่ยังคงดำเนินการเผยแพร่จนถึงปัจจุบัน (เปลี่ยนชื่อเป็น www.ghbank.co.th)
ปี ๒๕๓๘ ธนาคารฯ ได้จัดทำ “วารสารธนาคารอาคารสงเคราะห์” เพื่อเผยแพร่บทความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และได้จัดทำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๑๙ ปี และในช่วงปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๒ นั้นได้รับการโหวตให้เป็นวารสารวิชาการที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุดอันดับ ๑ ของไทย ๓ ปีซ้อน
ในปี ๒๕๓๗ ธนาคารฯ ได้ริเริ่มดำเนินการทำนวัตกรรมกระบวนงานให้สินเชื่อรายย่อยให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ต่อมาปี ๒๕๓๘ ก็ได้ดำเนินการทำนวัตกรรมกระบวนงานพัสดุ เพื่อปรับปรุงระเบียบวิธีการด้านการจัดซื้อจัดจ้าง และควบคุมพัสดุคุรุภัณฑ์ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปี ๒๕๓๖ ธนาคารฯ ดำเนินงานครบรอบ ๔๐ ปี และได้รับยกย่องเป็น “รัฐวิสาหกิจที่ดี” ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนสัญลักษณ์ธนาคารใหม่จาก “รูปวิมานเมฆ” เป็น “รูปสองมือโอบอุ้มบ้าน” ซึ่งนับเป็นรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายทันสมัย และคงความหมายของภารกิจหลักที่จะช่วยโอบอุ้มการเงินให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย
ปี ๒๕๓๖ สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ธนาคารฯ มีฐานะเป็น “รัฐวิสาหกิจที่ดี” เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื่องจากผลการประกอบการที่ดีเด่น ของธนาคารฯ นับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งที่ ๒ ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลถัดจากการปิโตรเลียม
เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งผลจากการออกพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์สามารถเพิ่มทุนได้ตามความจำเป็นในการขยายกิจการของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารสามารถขยายการให้บริการด้านสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นและให้อัตราส่วนของเงินทุนของธนาคารต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลทำให้การบริหารของธนาคารมีความคล่องตัวมากขึ้น
“ชมรมสินเชื่อที่อยู่อาศัย” ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยมีคุณสิทธิชัย ตันติ์พิพัฒน์ เป็นประธาน ต่อมาชมรมฯ ได้ยกฐานะและจดทะเบียนเป็น “สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย”เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ โดย มีคุณสิทธิชัย ตันติ์พิพัฒน์ เป็นประธานสมาคมคนแรก
ธนาคารฯ ได้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์้ด้านบริการเงินฝากแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๓ ส่วนระบบเงินกู้ออนไลน์ ธนาคารฯ ได้ริเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ และได้ติดตั้งที่สำนักงานใหญ่และเริ่มทดลองใช้งานคู่ขนานกับระบบเดิมเมื่อปี ๒๕๓๓ ต่อมาได้ใช้งานอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
นายสิทธิชัย ตันติ์พิพัฒน์ เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารฯ คนที่ ๖ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งในช่วงระยะเวลากว่า ๖ ปี ที่ท่านบริหาร นับว่าเป็นยุคที่ธนาคารฯ มีความรุ่งเรืองสูงสุด ทั้งในแง่ของการขยายสินเชื่อ การขยายสาขา และด้านอื่น ๆ
ธนาคารฯ เริ่มมีนโยบายในการขยายให้บริการทั้งทางด้านสินเชื่อและเงินฝากในจังหวัดใหญ่ ๆ ของภูมิภาค โดยได้เปิด “สาขาสำนักงานเชียงใหม่” ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งนับเป็นสาขาแรกในจังหวัดภูมิภาค และเป็นสาขาแห่งที่สองของธนาคารฯ ต่อจากสาขาราชดำเนิน
ในปี ๒๕๒๙ สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโดยรวมของประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ธนาคารฯ ได้ปรับปรุงระบบงานอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการจ้างผู้ประเมินค่าทรัพย์สินภายนอก
มาทำการประเมินค่าหลักประกันให้การประเมินราคามีมาตรฐาน และช่วยให้การดำเนินงานของธนาคารฯ รวดเร็วมากขึ้น
ปี ๒๕๒๙ ธนาคารฯ เปิด “สำนักงานใหญ่แห่งใหม่” ขึ้นที่ถนนพระราม ๙ แยกอโศก – ดินแดง เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ และใช้สำนักงานใหญ่เดิมที่ถนนราชดำเนินเป็นสำนักงานสาขา ดังนั้น “สำนักงานราชดำเนิน” จึงกลายสภาพเป็นสำนักงานสาขาแห่งแรกของธนาคารอาคารสงเคราะห์
ในปี ๒๕๒๗ ธนาคารฯ เน้นการระดมเงินทุนจากต่างประเทศโดยการออกพันธบัตรเงินกู้ และภายในประเทศริเริ่มให้มีการนำเสนอรูปแบบเงินฝากใหม่ที่เรียกว่า “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ” ที่ลูกค้าไม่ต้องเสียภาษี และสามารถถอนเงินได้ทุกเดือน ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างแพร่หลาย
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์ด้านการเงินการธนาคาร เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงขององค์กรในระยะยาวหลายประการ อาทิ การแยกส่วนเงินกู้ที่มีการปล่อยสินเชื่อทั้งรายย่อยและโครงการออกเป็น ๒ ส่วน คือ “ส่วนเงินกู้ทั่วไป” และ “ส่วนเงินกู้โครงการ” และเริ่มปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อที่ดีขึ้น เช่น การสร้างหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์สินเชื่อที่รอบคอบรัดกุมขึ้น และมีการทำการตลาดสินเชื่อ โดยมีการจัดทำเอกสารแผ่นพับการขอสินเชื่อ เพื่อให้ลูกค้าเข้าได้ชัดเจนและง่ายขึ้น
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารฯ คนที่ ๕ โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า ๘ ปีที่ท่านบริหารงานที่ธนาคารฯ ท่านได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบทบาทของธนาคารฯ ให้เติบโตก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารฯ ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินตึงตัวในปี ๒๕๒๒ และในปี ๒๕๒๔ ได้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ ธนาคารฯ ต้องประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจากการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นให้กับเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรจำนวนมาก จึงนับเป็นช่วงที่ธนาคารฯบริหารงานด้วยความลำบากยิ่ง
นายมานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารฯ คนที่ ๔ ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารฯ
ต้องเผชิญกับมรสุมสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนักแต่ท่านก็ยังสามารถประคับประคอง
ให้ธนาคารฯ ดำเนินต่อไปได้
ธนาคารฯ เปิดดำเนินธุรกิจในการรับฝากเงิน (Deposit Taking) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยประกอบด้วยเงินฝาก ๓ ประเภท ได้แก่ ๑) เงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเงินฝากกระแสรายวัน ๒) เงินฝากออมทรัพย์ ๓) เงินฝากประจำ ๓ เดือน ๖ เดือน และ ๑๒ เดือนขึ้นไป
ผลของกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 316 จัดตั้งการเคหะแห่งชาติ และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 317 ทำให้มีการแยกกิจการเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อที่ดินและอาคารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้กับการเคหะแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์จึงทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยประการเดียว (Specialized Housing Finance Institution) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา
ในปี ๒๕๑๖ ธนาคารฯได้โอนกิจการด้านการจัดสรรที่ดินและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้กับการเคหะแห่งชาติ ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่โอนให้การเคหะแห่งชาติคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๖๔ ล้านบาท ซึ่งนับเป็น Mile Stone หรือจุดเปลี่ยนบทบาทที่สำคัญจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของธนาคารฯ ช่วงต่อไป
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ รัฐบาลได้จัดตั้ง “การเคหะแห่งชาติ” ขึ้นตาม“ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๑๖” ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
ลงนามโดย จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
รัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๑๗ ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ คณะปฏิวัติเห็นสมควรปรับปรุงกิจการธนาคารฯ ให้สอดคล้องและประสานกับกิจการของการเคหะแห่งชาติ
นายตุ๋ย เหล่าสุนทร กรรมการผู้จัดการธนาคารฯ คนที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการผลักดันกฎหมายสำคัญ คือ การออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๑๖ จัดตั้งการเคหะแห่งชาติ
และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๑๗ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
ในช่วงปี ๒๔๙๗-๒๔๙๙ ธนาคารฯได้จัดสร้างโครงการที่อยู่อาศัยหลายโครงการ ได้แก่ โครงการอาคารสงเคราะห์พิบูลวัฒนา (สามเสน) เนื้อที่ ๒๕ ไร่, โครงการอาคารสงเคราะห์ทุ่งมหาเมฆ เนื้อที่ ๗๖ ไร่ และได้เริ่มโครงการอาคารสงเคราะห์ถนนดินแดง จำนวนประมาณ ๖๐๐ หลัง บนที่ดิน ๑๒๐ ไร่
โครงการที่อยู่อาศัยแรกที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้จัดสร้างขึ้น ได้แก่ “โครงการพิบูลเวศม์” เป็นที่อยู่อาศัยประเภทเช่าซื้อ มีจำนวนอาคารเป็นบ้านเดี่ยว ๒๐๐ หลัง ตั้งอยู่ที่บริเวณพระโขนง – คลองตัน (สุขุมวิท ๗๑) บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ (จากเนื้อที่เต็ม ๓๐๐ ไร่) สำหรับโครงการอาคารสงเคราะห์แห่งแรก ได้ชื่อว่า “พิบูลเวศม์” นี้ ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านได้กรุณามาเป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทำการเช่าซื้อ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497
ในปี ๒๔๙๖ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้รับเงินทุนประเดิมจากกระทรวงการคลังเป็นเงิน
๒๐ ล้านบาท ต่อมา คณะกรรมการธนาคารฯ เห็นสมควรที่จะส่งเสริมและขยายกิจการ
สร้างอาคารสงเคราะห์ ประเภทเช่าซื้อให้มากขึ้น จึงกู้เงินจากธนาคารออมสินในช่วงปี
๒๔๙๖ – ๒๔๙๙ อีกเป็นเงิน ๕๕ ล้านบาท
ม.ร.ว. ขจิต เกษมศรี เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์คนที่ ๒ ท่านได้ดำรงตำแหน่งนานกว่า ๑๔ ปี และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในประวัติ ๖๐ ปีของธนาคารฯ และนับว่าเป็นผู้บุกเบิกบริหารงานด้านการเคหะสงเคราะห์และการจัดสรรที่ดินเพื่อการให้เช่าซื้อรายแรก ๆ ของประเทศไทย
หลวงอภิรมย์โกษากร ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์คนแรกเมื่อปี ๒๔๙๖ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีระยะเวลาดำเนินงานประมาณ ๘ เดือน (มีนาคม – สิงหาคม ๒๔๙๖)
วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๖ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นประธานประกอบพิธีเปิดสำนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ ณ ถนนราชดำเนิน ธนาคารฯ จึงถือเอาฤกษ์วันนี้
เป็นวันเริ่มดำเนินการธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ “เป็นวันเกิดธนาคาร”