ประมวลจริยธรรมของผู้บริหารและพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2553
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 279 บัญญัติให้มีการจัดทำประมวลจริยธรรม เพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท โดยมีกลไกและระบบในการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ
เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ธนาคารอาคารสงเคราะห์จึงได้ออกระเบียบไว้ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบอาคารสงเคราะห์ ว่าด้วย ประมวลจริยธรรมของ ผู้บริหารและพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2553”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
“ธนาคาร” หมายถึง ธนาคารอาคารสงเคราะห์
“ผู้บริหาร” หมายถึง พนักงานตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่าย/สำนัก หรือ เทียบเท่าขึ้นไป ทั้งนี้ รวมถึงผู้บริหารตามสัญญาจ้างด้วย
“พนักงาน” หมายถึง พนักงานตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย/สำนัก หรือ เทียบเท่า ลงมา และพนักงานตามสัญญาจ้าง
หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรม
ส่วนที่ 1 ค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรม
ข้อ 4 ผู้บริหารและพนักงานธนาคารทุกคนมีหน้าที่โดยยึดค่านิยมตามหลัก 9 ประการ ดังนี้
(1) การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม
(2) การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ
(3) การยึดถือประโยชน์ธนาคารเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตัว และไม่มีประโยชน์ทับซ้อน
(4) การยืนหยัดทำในสิ่งถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
(5) การให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ
(6) การให้ข้อมูลข่าวแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
(7) การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
(8) การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(9) การยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณของธนาคาร
ส่วนที่ 2 มาตรฐานจริยธรรมขององค์กร
ข้อ 5 ผู้บริหารและพนักงานต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ข้อ 6 ผู้บริหารและพนักงานต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้ และปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
ข้อ 7 ผู้บริหารและพนักงานต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้บริหารและพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์
หมวด 3 กลไกและระบบการบังคับใช้
ข้อ 8 ผู้บริหารและพนักงานต้องประพฤติปฏิบัติและวางตนอยู่ในกรอบระเบียบว่าด้วยประมวล จริยธรรมของธนาคาร ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการส่งเสริมและรักษาเจตนารมณ์จรรยาบรรณ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทำหน้าที่กำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของผู้บริหารและพนักงานให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมนี้
ข้อ 9 กรณีการร้องเรียนหรือปรากฏเหตุว่า มีผู้บริหารหรือพนักงานประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมนี้ ให้ยื่นเรื่องต่อฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อพิจารณาดำเนินการ
เมื่อฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะต้องนำเสนอต่อกรรมการผู้จัดการ เพื่อขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน เพื่อดำเนินการสอบสวนจริยธรรมในเรื่องดังกล่าว โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ร้องเรียนและไม่อยู่ในสังกัดฝ่ายหรือสายงานเดียวกันกับผู้ถูกร้องเรียน อีกทั้งต้องไม่เคยเป็นผู้เคยถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกพิจารณาว่ากระทำผิดทางวินัย แม้ว่าจะไม่ต้องได้รับโทษทางวินัยก็ตาม
ข้อ 10 การดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามระเบียบธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ 1 ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสืบสวนพิจารณา พ.ศ. 2520
หากดำเนินการสอบสวนตามข้อ 10 เสร็จสิ้นลง ให้รายงานต่อผู้ที่มีอำนาจอนุมัติแต่งตั้งพิจารณา หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้ยุติเรื่อง แต่หากปรากฏว่ามีมูลอันควรดำเนินการทางวินัย ให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยพนักงานผู้นั้น ตามข้อบังคับและระเบียบ ว่าด้วยวินัย การสอบสวน และการลงโทษทางวินัยต่อไป
หมวด 4 ขั้นตอนการลงโทษ
ข้อ 11 การประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมนี้ ในกรณีที่มิใช่เป็นความผิดทางวินัยหรือความผิดทางอาญา ให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณีเพื่อให้มีการแก้ไขหรือดำเนินการที่ถูกต้อง หรือตักเตือน หรือสั่งการให้ผู้ฝ่าฝืนนั้นปรับปรุงตนเอง หรือได้รับการพัฒนาแล้วแต่กรณี
ข้อ 12 การประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมนี้ ในกรณีเป็นความผิดทางวินัยหรือความผิดทางอาญา ให้ดำเนินการตามข้อบังคับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ 17 เรื่องระเบียบปฏิบัติของพนักงานธนาคาร ว่าด้วย วินัย การสอบสวน การลงโทษพนักงานและลูกจ้าง การอุทธรณ์การถูกลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง
ข้อ 13 กรณีเกิดปัญหาในการตีความหรือดำเนินการตามประมวลจริยธรรมนี้ ให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด