- เกี่ยวกับ ธอส.
- คณะกรรมการ/คณะผู้บริหาร
- สินเชื่อ
- เงินฝาก
- สลากออมทรัพย์ ธอส.
- บริการอิเล็กทรอนิกส์
- บ้านมือสอง ธอส.
- คำถามที่พบบ่อย
- ร่วมงานกับเรา
วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496” และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2496 ให้จัดตั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง เจตนารมณ์สำคัญในการจัดตั้ง “เพื่อช่วยเหลือทาง การเงินให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยตามควรแก่อัตภาพ” และได้มีพิธีเปิดธนาคารขึ้นในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2496 ซึ่งถือเป็นวันเริ่มดำเนินการของธนาคารด้วย โดยใช้ตราสัญลักษณ์ “วิมานเมฆ” ที่แสดงถึงบ้านที่ทำให้ครอบครัวมีความสุข อบอุ่น ร่มเย็น เปรียบประดุจทิพย์พิมาน
พ.ศ. 2516 ธอส. เริ่มปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งสินเชื่อระยะสั้น เพื่อผู้ประกอบการนำไปพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และสินเชื่อระยะยาว เพื่อประชาชนทั่วไป โดยในปีต่อมา (พ.ศ. 2517) ก็ได้เปิดธุรกิจรับฝากเงินเป็นครั้งแรก
หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2522 - 2524) ธนาคารได้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์ด้านการเงินการธนาคาร อาทิ แยกส่วนเงินกู้ที่มีการปล่อยสินเชื่อ ปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อให้คล่องตัว และพัฒนาฝึกอบรมบุคลากร ริเริ่มบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นแหล่งทุนที่สำคัญขอธนาคารต่อเนื่องมาหลายปี และมีการจัดตั้งศูนย์สินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้ค้างโครงการที่อยู่อาศัย โดยทำหน้าที่วิเคราะห์และพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโครงการ
18 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ธนาคารได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากถนนราชดำเนินในมาให้บริการที่ห้วยขวาง และใช้สำนักงานใหญ่เดิมเป็นที่ทำการสาขาราชดำเนิน อีกทั้งในเดือนนั้นยังได้เริ่มขยายการให้บริการ ด้วยการเปิดเคาน์เตอร์การเงินนอกสถานที่ตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์บริการธนาคาร ณ ที่ว่าการอำเภอทั่วไทย และเปิดหน่วยบริการสินเชื่ออีกหลายแห่ง
โอกาสครบรอบ 40 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2536 ธนาคารได้เปลี่ยนสัญลักษณ์จาก “รูปวิมานเมฆ” เป็น “รูปสองมือโอบอุ้มบ้าน” เพื่อให้สอดคล้องกับการได้รับอนุมัติให้เป็น “รัฐวิสาหกิจที่ดี” รวมถึงได้เริ่มทำเว็บไซต์ www.ghbank.co.th เพื่อให้ข้อมูลแก่บุคคลทั่วไป และในปี พ.ศ. 2539 ได้รับการยกย่องจากศูนย์กลางสหประชาชาติว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ให้เป็น “สถาบันการเงินที่มีผลการปฏิบัติงานดีเยี่ยม”
ในช่วงปี พ.ศ. 2540 - 2542 ประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ธนาคารได้มีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูธุรกิจที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ตามนโยบายของรัฐบาล แม้ในช่วงที่สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัวที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ก็ยังแสดงบทบาทนำในเรื่องการประนอมหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกค้าผู้กู้เงินซื้อบ้าน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าได้อย่างมาก
พ.ศ. 2550 ธนาคารได้ประกาศภาพลักษณ์ใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ และได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการดำเนินงาน มีการรวมศูนย์การวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อไว้ที่เดียว เพื่อให้การพิจารณาสินเชื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งธนาคาร จึงสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังเป็นปีที่ได้รับรางวัล “รัฐวิสาหกิจดีเด่น” ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 รวมถึงได้รับรางวัล Best Practice Certificate, รางวัล The Best Marketing Campaign และรางวัล Boss of The Year 2007 อีกด้วย
พ.ศ.2559 ธนาคารได้กำหนดพันธกิจใหม่ “ ทำให้คนไทยมีบ้าน” และวิสัยทัศน์ใหม่ “ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน” ที่สะท้อนถึงบทบาทและหน้าที่ของธนาคารที่มีต่อคนไทยและประเทศไทยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าหมายใหม่ ธนาคารฯเป็น SMART Organization พร้อมจัดตั้ง “โรงเรียนการเงิน” เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยตั้ง Premier Service Center (PSC) เป็นศูนย์ให้บริการด้านสินเชื่อแก่ลูกค้าของโครงการบ้านจัดสรร และ รายย่อยที่ต้องการสินเชื่อในทุกพื้นที่ และตั้ง Data Entry (DE) ปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนงานสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาด,การบริการลูกค้า
24 กันยายน 2567 ครบรอบ 71 ปี ของการสถาปนาธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารบ้านที่ดีที่สุดและยั่งยืนของคนไทย : The Best Housing and Sustainable Bank เพื่อทำให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และยังคงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังพร้อมสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดด้านดิจิทัลให้กับลูกค้า (Best Digital Experience) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และปรับปรุงกระบวนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารแบบครบวงจร ทั้งด้านสินเชื่อ ด้านเงินฝาก การซื้อสลากออมทรัพย์ การประนอมหนี้ และการจำหน่ายบ้านมือสองเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินของ ธอส. ได้ทุกที่ทุกเวลา